ประวัติและความเป็นมา


ประวัติและความเป็นมา

คำขวัญประจำจังหวัดตาก

                                               ธรรมชาติน่ายล                   ภูมิพลเขื่อนใหญ่

                                             พระเจ้าตากเกรียงไกร        เมืองไม้และป่างาม

                                               

               
เมืองตาก  ในอดีตเป็นเมืองที่มีชาวมอญอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก  เมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  ต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว  เมืองตากมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ได้โปรดให้ย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวาของแม่น้ำปิงมายังฝั่งซ้ายบริเวณตำบลล้านระแหงจนกระทั่งทุกวันนี้

จังหวัดตาก  เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับสองของภาคเหนือรองจากเชียงใหม่  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขาอันเป็นที่อยู่ของชาวเขาเผ่าต่างๆมีแม่น้ำปิงไหลผ่านตัวจังหวัดและมีแม่น้ำเมยเป็นเส้นกั้นเขตแดนไทยกับพม่าที่อำเภอแม่สอดซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าขายชายแดนระหว่างไทยกับพม่า

 ตาก  อยู่ห่างจากกรุงเทพฯประมาณ  426  กิโลเมตร  มีเนื้อที่  10,254,156  ไร่  สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็น  ภูเขาและป่าไม้เป็นจังหวัดที่มีอุทยานแห่งชาติหลายแห่งที่ยังคงความสมบูรณ์ของป่าและธรรมชาติ  อาทิ  อุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช  อุทยานแห่งชาติแม่เมย  อุทยานแห่งชาติลานสาง  และอุทยานแห่งชาติน้ำตกพาเจริญ  ตลอดจนมีน้ำตกที่นักท่องเที่ยวรักการผจญภัยและนิยมการล่องแก่งต้องมาเยือนสักครั้ง  คือ  น้ำตกทีลอซูและน้ำตกทีลอเร  นอกจากความสวยงามตามธรรมชาติแล้วยังเป็นจังหวัดที่มีผลผลิตทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อทั้งดอกไม้และผลไม้โดยเฉพาะ  ทับทิม  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีผลใหญ่และกำลังได้รับความนิยมมาก

จังหวัดตาก  เป็นหนึ่งในหัวเมืองที่มีอายุเกินกว่า  2,000  ปี  และเคยเป็นชุมชนโบราณที่มีการเพาะปลูกและล่าสัตว์มีการปั้นเครื่องปั้นดินเผาและหล่อโลหะประเภทสำริดจากหลักฐานการค้นพบซากโบราณวัตถุหลายชิ้นซึ่งเป็นเครื่องใช้ไม้สอยในยุคโลหะตอนปลายก่อนประวัติศาสตร์คือ  ประมาณ  2,500 - 1,500  ปีมาแล้ว   เดิมทีชุมชนตากในอดีตคงเป็นเมืองที่ชาวมอญสร้างขึ้นและเป็นราชธานีของแคว้นแถบตอนเหนือที่มีกษัตริย์ปกครองต่อเนื่องกันมาหลายพระองค์ในรัชสมัยพระเจ้าสักดำราวปี  พ.ศ.  560 เมืองตากเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มีอาณาเขตแผ่ไปไกลจนจดทะเลอันดามันและมีการติดต่อค้าขายกับเมืองอินเดียด้วยต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 10 พระยากาฬวรรณดิสอได้อพยพโยกย้ายผู้คนไปสร้างราชธานีใหม่ ขึ้นที่เมืองละโว้ทางตอนใต้ของเมืองตากทิ้งให้ตากกลายเป็นเมืองร้างอยู่หลายร้อยปี

จนราวปี  พ.ศ. 1310 - 1311 พระนางจามเทวีวงศ์พระราชธิดาในกษัตริย์เมืองละโว้เสด็จตามลุ่มน้ำปิงผ่านเมืองตากเพื่อไปปกครองแคว้นหริภุญไชยหรือลำพูนในปัจจุบันทรงพบร่องรอยกำแพงเก่าตามริมฝั่งแม่น้ำจึงโปรดฯให้สร้างเมืองแห่งนี้ขึ้นเป็นบ้านเมืองใหม่ เรียกกันว่า "บ้านตาก" ด้วยมีเรื่องเล่าว่า เป็นสถานที่ที่พี่เลี้ยงของพระนางตากผ้าและสิ่งของที่เปียกชุ่มขณะเดินทางมาตามลำน้ำ

หลังจากพ่อขุนรามคำแหงชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ในปี พ.ศ.1781 แล้วพระองค์ได้ยกทัพผ่านลงมาทางแหลมมลายูปราบเมืองใหญ่น้อยที่เคยเป็นอาณาจักรทวารวดีและศรีวิชัยรวมเข้าเป็น อาณาจักรสุโขทัยเป็นผลให้มีการเปิดเส้นทางค้าขายทางบกไปยังเมืองเมาะตะมะของมอญซึ่งเป็นเมืองท่าผ่านสินค้าต่อไปยังอินเดีย เปอร์เซีย และ อาระเบีย โดยพ่อค้าไทยมักนำเครื่องสังคโลกจากสุโขทัย ผ่านแม่สอดไปยังเมาะตะมะเพื่อส่งต่อไปยังประเทศต่างๆ โดยทางเรือขณะเดียวกันก็นำสินค้าจากเมือง เมาะตะมะและประเทศทางตะวันตกกลับมาขายด้วย

 สมัยอยุธยาบ้านตากเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญสำหรับป้องกันกองทัพพม่าที่ยกทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมามีแม่ทัพนายกองและไพร่พลจากกรุงศรีอยุธยามาประจำการและยังเป็นที่ชุมนุมไพร่พลทหารกล้า สำหรับการเดินทัพครั้งสำคัญเพื่อเข้าตีเมืองเชียงใหม่อีกหลายครั้งในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชช่วงที่กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราชขึ้นกับพม่าสมัยพระเจ้าหงสาวดีได้ย้ายเมืองจากบ้านตาก ลงมาทางใต้ประมาณ 25 กม. เรียกว่า "เมืองตากระแหง" ตั้งอยู่ ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกด้วยเหตุที่การคมนาคมติดต่อระหว่างเมืองนี้กับเมืองมอญใกล้กว่าที่เก่า

ก่อนเสียกรุงครั้งที่ 2 เมืองตากระแหงถูกพม่าตีแตกผู้คนหนีไปบ้านเมืองร้างจนถึงสมัย ต้นรัตนโกสินทร์พระเจ้ากาวิละได้รวบรวมชาวเมืองตากเดิมที่บ้านตากและเมืองตากระแหงมาตั้งเมืองใหม่โดยย้ายเมืองมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงเพื่อให้ลำน้ำเป็นปราการธรรมชาติที่ช่วยกั้นทัพพม่า เมื่อพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษบ้านเมืองสงบปลอดศึกสงครามตากเริ่มมีการค้าขายกับพม่าและเมืองทางภาคเหนือโดยอาศัยลำน้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญชุมชนจึงขยายตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด ตากก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้าทางเรือระหว่างเชียงใหม่นครสวรรค์และกรุงเทพฯ